วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2550



ความเรียง

ตึกแค

ลมแล้งของปลายเดือนมกราคมพัดมาแล้ว น้ำในลำห้วยเริ่มแห้งขอดลง บางส่วนได้แยกออกเป็นสองสาย แม่น้ำที่แยกกันออกเป็นสองสาย ชาวบ้านเรียกว่า ‘สองแค’
น้ำในหน้าแล้งกับหน้าฝนจะต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะหน้าฝนน้ำใหญ่ หลังน้ำท่วมหลากผ่านพ้นไป ปลาก็ได้วางไข่ขยายพันธุ์ตามสุมทุ่มพุ่มไม้ริมน้ำ ตามโขดหิน โดยแท้จริงแล้วในช่วงหน้าน้ำหลากเป็นช่วงที่การหาอยู่หากินทางน้ำเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะเมื่อน้ำใหญ่ ปลาหรือสัตว์น้ำนานาชนิดมีสิทธิ์เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ได้อย่างเสรี
ถือได้ว่า ธรรมชาติได้สร้างกลไกการทำงานชนิดหนึ่งขึ้นมา เพื่อลดทอนบทบาทของมนุษย์ลง และเพื่อให้ธรรมชาติได้รักษาสมดุลของตัวเอง แต่ก็นั้นแหละ บางครั้งความสมดุลของธรรมชาติก็มามากจนเกินพอดี หลังน้ำท่วมหลากหลายครั้ง เราจึงได้เห็นภาพของสัตว์น้ำนานาชนิดนอนตายเกลื่อนข้างเศษไม้ท่อนไม้ที่ลอยมากับน้ำ
มีบางคนเคยบอกเอาไว้ว่า หากลองเดินเข้าป่าหน้าแล้ง เราจะเห็นความงามจากความแห้งแล้งนั้น ยิ่งเมื่อเราเดินเข้าป่าไปสู่ดอยสูง เราจะได้เห็นดอกเอื้อง และดอกไม้หน้าแล้งอื่นๆ บานท้าทายความแห้งแล้ง
เมื่อเดินตัดจากยอดอยลงสู่เบื้องล่าง เราจะเห็นสายน้ำที่ไหลเอื่อยคล้ายคนใกล้สิ้นหวังอยู่เบื้องล่าง หน้าแล้งเมื่อน้ำเริ่มลด เหมือนเป็นนิมิตรหมายทางฤดูกาลอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติได้บอกกับมนุษย์ว่า เอาละ มันถึงเวลาที่มนุษย์จะแสวงหาผลประโยชน์จากแม่น้ำได้อย่างเต็มที่แล้ว
ในช่วงหน้าแล้งการจับสัตว์น้ำทั้งปลา กุ้ง หอย ปู ที่พอจะนำมาทำเป็นอาหารสามารถทำได้ง่ายกว่าหน้าฝน เพราะน้ำน้อย ลำห้วยบางแห่งที่น้ำลดลงจนแยกออกเป็นสองสาย ชาวบ้านก็จะชักชวนกันไปกั้นน้ำ หรือที่เรียกว่า ‘ตึกแค’
การตึกแคแม้ทำไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก เพราะการตึกแคต้องใช้คนไม่ต่ำกว่า ๕ คนช่วยกันทำ ในขั้นแรกของการตึกแค คนทั้งหมดจะแบ่งหน้าที่กันออกเป็นส่วนๆ บางคนไปหาเก็บเศษไม้ บางคนก็ลงมือทำคันดินกั้นน้ำ การทำคันดินกั้นน้ำต้องทำให้แข็งแรงพอสมควร เพราะเมื่อน้ำไหลอออกหมดหรือระหว่างที่น้ำไหล คันดินต้องไม่พังทลายลง เพราะเมื่อคันดินพังทลายลง การตึกแคเป็นอันต้องเริ่มใหม่
การทำคันดินกั้นน้ำก่อนลงมือทำต้องมีการเลือกจุดที่จะกั้นเสียก่อน ส่วนมากจุดที่จะทำคันดินกั้นน้ำ จะเป็นจุดที่มีน้ำน้อย และน้ำแยกออกเป็นสองสาย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมื่อกั้นน้ำอีกสายหนึ่งก็ต้องมีพื้นที่ให้น้ำได้ไหลไปอีกทางหนึ่งด้วย แต่กฎเกณฑ์เหล่านี้ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน บางครั้งการตึกแคก็กั้นตรงจุดที่แม่น้ำไม่ได้แยกออกเป็นสองสาย แต่คันดินที่ทำขึ้นต้องทำให้แข็งแรง การตึกแคก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการทำฝาย เพราะการตึกแคก็คือการกั้นน้ำเอาปลา บางครั้งการตึกแคก็เลือกทำตรงจุดที่น้ำลึก และเป็นวังน้ำ เพราะจุดที่น้ำลึกจะมีปลาอาศัยอยู่มากกว่าจุดที่น้ำน้อย
ใช่กว่าการตึกแคจะเป็นภูมิปัญญาของคนพื้นราบเสียทีเดียว แต่คนที่อาศัยอยู่บนดอย เช่น ชนเผ่าปกากญอก็มีภูมิปัญญาในการตึกแคเช่นกัน แต่การตึกแคของชนเผ่าปกากญอเรียกว่า ‘มาอ่อกะปกว่า’
มาอ่อกะปกว่าคือการกั้นแควน้ำบริเวณที่น้ำแยกออกเป็นสองสายหรือแยกออกเป็น ๒ แคว โดยการกั้นจะกั้นส่วนหนึ่งของลำน้ำไว้ การกั้นน้ำชาวบ้านจะเลือกกั้นน้ำตั้งแต่ด้านบนก่อนแล้วค่อยๆ กั้นเรื่อยลงมา หลังจากน้ำลดก็เริ่มลงมือจับปลา การตึกแคจะมีคนอย่างน้อยประมาณ ๕-๑๐ คนร่วมกันทำดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อได้ปลามาก็จะมีการแบ่งปลาที่ได้ให้ครบตามจำนวนคน แลที่สำคัญการแบ่งก็จะแบ่งเท่าๆ กันเมื่อเสร็จสิ้นการตึกแคแล้วก็จะมีการปล่อยน้ำให้ไหลตามเดิม เพราะชาวปกากญอมีความเชื่อว่า หากเรากั้นน้ำไว้จนน้ำแห้งเราจะไม่มีปลากินอีก ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อตอนตึกแคอาจมีปลาที่จับไม่ได้หลงเหลืออยู่ เมื่อเราไม่ปล่อยน้ำ ปลาก็จะตาย แต่ถ้าเราปล่อยน้ำปลาก็จะรอด เราก็จะมีปลากินอีก
บางครั้งมนุษย์ก็ไม่ได้ออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างเสียทั้งหมด ธรรมชาติก็มีส่วนในการออกแบบมนุษย์เราด้วยเช่นเดียวกัน
การตึกแคไม่ได้หมายถึงการกั้นน้ำหาปลาเพียงอย่างเดียว แต่การตึกแคยังหมายรวมถึงหลายๆ อย่าง ทั้งความเชื่อของคน ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน การรู้จักเรียนรู้ธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างพอเพียง แม้ว่าการตึกแคจะเป็นการพึ่งพาธรรมชาติในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่มันก็เป็นความสั้นที่แสนเรียบง่ายที่งดงาม
แน่ล่ะเราไม่อาจแน่ใจได้ว่า ในอนาคตการหาปลาด้วยวิธีการอย่างนี้ยังจะมีอยู่หรือเปล่า แต่เชื่อแน่ว่า ตราบใดที่แม่น้ำยังไหล ตราบนั้นคนกลุ่มเล็กๆ ก็ยังจะพึ่งพาแม่น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อดำรงชีวิตกันต่อไป...